การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยเทคนิคหรือ Technical Analysis เกิดขึ้นมานานเกินศตวรรษแล้ว แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงและโดนการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งสายกัน โดยเฉพาะจากนักลงทุนแนวพื้นฐาน ว่าสายเทคนิค เน้นการเก็งกำไรระยะสั้น หรือค่อนแคะว่าไม่เห็นใครรวยจากการดูกราฟบ้างล่ะ จากประสบการณ์ตรงที่เคยทำงานฝ่ายวิเคราะห์ในบริษัทหลักทรัพย์ หัวหน้าแผนกตอนนั้น ดูแคลนเทคนิคมาก ภายหลังหัวหน้าคนนั้นโดนย้ายเนื่องจากผลงานไม่เข้าตาผู้บริหาร เพราะแนะนำหุ้นโดยไม่มีจังหวะเทคนิคเข้ามาช่วยเลย โดนลูกค้าและมาร์เก็ตติ้งต่อว่าอย่างแรง
ในฐานะเทรดเดอร์หรือนักลงทุน ควรจะมองสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ จะหยิบไปใช้อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับแนวทาง ความสะดวก และสไตล์การเทรดของเรา จะเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมผสานกันก็ได้
การวิเคราะห์ปัจจัยเทคนิค คือ การดูแนวโน้ม โดยศึกษาพฤติกรรมราคา และ ปริมาณการซื้อขาย โดยเชื่อว่ากราฟราคานั้นสะท้อนทุกสิ่งอย่างไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารใด ๆ ออกมาหมดแล้ว
ส่วนการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน หรือ Fundamental Analysis มีสองแบบหลัก ๆ ได้แก่ บนลงล่าง มองภาพเศรษฐกิจมหภาคระดับโลก Megatrend เศรษฐกิจภายในประเทศ อุตสาหกรรม ลงมาจนถึงตัวบริษัท และ ล่างขึ้นบน คือการเจาะและวิเคราะห์งบการเงินของกิจการ เพื่อหามูลค่าที่เหมาะสม ซึ่งเป็นแนวทางหลักการลงทุนหุ้นคุณค่าหรือ VI
อย่างไรหก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าการวิเคราะห์ปัจจัยเทคนิคมีข้อได้เปรียบกว่าปัจจัยพื้นฐานด้วยเหตุผลดังนี้
1. ประหยัดเวลา ง่ายกว่า
การดูกราฟนั้นถ้าเข้าใจแล้วดูไม่ยาก ดูแว๊บเดียวจะเห็นแนวโน้มราคาแล้ว จะกรองตัวที่ไม่ใช่แนวโน้มขาขึ้น หรือ Sideways ออกไปได้อย่างง่ายดาย ในส่วนของพื้นฐานนั้นต้องตามข่าว ตามตัวเลขทางเศรษฐกิจ หรือ รอตัวเลขเก็งงบ การศึกษาและการติดตามปัจจัยทางเศรษฐกิจระดับมหภาคไม่ใช่เรื่องง่าย และ ต้องใช้เวลา บางทีฟังนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานคุยกันตั้งนาน ก็ยังไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไร
2. ใช้ได้กับทุกผลิตภัณฑ์การลงทุน
ถ้าท่านศึกษาพื้นฐานกิจการด้วยการดูงบการเงิน และหามูลค่าที่เหมาะสมเป็น ท่านก็สามารถประยุกต์ใช้ได้กับหุ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นำไปใช้วิเคราะห์ทองหรือฟอเร็กซ์ไม่ได้ จะไปดูงบการเงินบิตคอยน์ก็ไม่มี แต่ถ้าดูกราฟเทคนิคเป็นเปิดกราฟหุ้น กราฟฟอเร็กซ์ กราฟบิตคอยน์มีให้ดูหมด วิเคราะห์กราฟด้วยภาษาเดียวกัน คือ ภาษาเทคนิคอลนั่นเอง
3. ราคาสะท้อนข้อมูลข่าวสารออกมาแล้ว พื้นฐานเปลี่ยนใช้เวลา รอ 3 เดือน 1 ปีขึ้นไป
ทางเทคนิคจะดูราคา ณ ปัจจุบัน แล้วเชื่อว่าได้สะท้อนข้อมูลข่าวสารทุกอย่างที่เกี่ยวข้องออกมาหมดแล้ว เป็นข้อมูล ณ ตอนนี้ การตัดสินใจจะเป็นปัจจุบัน ในขณะที่การจับจังหวะทางปัจจัยพื้นฐานนั้นค่อนข้างใช้เวลานาน อย่างน้อยก็ 3 เดือน คือ 1 ไตรมาส กว่าจะได้เห็นงบการเงินออกมาทีนึง ค่า PE (Price Earning Ratio) ที่นิยมใช้ช่วยประเมินมูลค่าหุ้น ก็เป็นค่าย้อนหลังคือมองย้อนกลับไปในอดีตนั่นเอง
4. ใช้ช่วยวิเคราะห์การเทรดได้ทุก Time Frame สั้นมาก สั้น กลาง ยาว
เดย์เทรดเดอร์ หรือ นักเก็งกำไรภายในวันเดียว เป็นการเทรด TF สั้น ๆ เช่น 15 นาที จำเป็นที่จะต้องใช้การดูกราฟเทคนิคเป็นหลัก ถามว่าใช้พื้นฐานเทรดแบบเดย์ได้ไหม ก็พอจะได้แต่ไม่เหมาะเท่าใดนัก ในขณะเดียวกัน การลงทุนระยะยาวต้องใช้พื้นฐานดูอย่างเดียวหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่จำเป็น จะใช้การดูกราฟเทคนิคเพื่อช่วยจับจังหวะการซื้อขายก็สามารถทำได้ แนวทางผสมผสานนั้นมีอยู่จริงในเช่น CANSLIM ที่ถูกคิดค้นโดย William O’Neil ดังนั้น เทคนิคมีความยืดหยุ่นกว่าแน่นอนเพราะใช้ได้ในหลากหลาย Time Frame นั่นเอง
5. มีเกณฑ์ในการซื้อ ขาย ชัดเจนและสร้างระบบการเทรดได้หลากหลาย
ท่านสามารถใช้เครื่องมือเทคนิคที่หลากหลายสร้างระบบการเทรดขึ้นมา โดยการวางแผน กำหนดจุดซื้อ จุดขาย ได้อย่างชัดเจน รวมไปถึง การวางจุดตัดขาดทุน และระดับที่จะการขายทำกำไร ค่อนข้างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตามแนวโน้ม เมื่อราคาทำจุดสูงสุดใหม่ หรือเมื่อราคาย่อลงมา
การตัดขาดทุนก็เป็นส่วนสำคัญในการบริหารความเสี่ยง ในทางเทคนิคมีหลากหลายวิธีการไม่ว่าจะเป็น Chart Stop, Money Stop, Percentage Stop, Volatility Stop, Time Stop
ในขณะที่ของฝั่ง Fundamental นั้นเชื่อว่าราคาจะกลับไปที่พื้นฐาน เพราะฉะนั้นการวางแผนการลงทุน คือ ทำการซื้อ เมื่อราคาลงมาต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นตามปัจจัยพื้นฐานพอสมควร แต่ไม่เคยได้ยินว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไรในการตัดขาดทุน ส่วนตัวผมคิดว่าเทคนิคอลมีระเบียบแบบแผนแต่ก็แฝงไปด้วยความหลากหลายและยืดหยุ่นกว่าฝั่งพื้นฐานที่ค่อนข้างตายตัวครับ
Leave A Comment