คุณเคยอกหักไหม?ผมว่าใคร ๆ ก็ต้องเคยเจอประสบการณ์นี้ หลังจากผิดหวังจากความรักมาหมาด ๆ อาการจะเป็นอย่างไร?มันจะรู้สึกหน่วง ๆ ไม่อยากทำอะไรเลย อย่างน้อยก็ต้องพัก แล้วทำตัวเศร้า ๆ แบบพระเอก​(นางเอก) มิวสิควีดีโอ อย่างน้อยก็วันสองวัน บางคนอาจเป็นเดือน ๆ

ลองสร้างสถานการณ์เพิ่มดู ปรากฏว่าไม่กี่วันหลังจากอกหัก มีคนเข้าสวย (หล่อ) ตรงสเปคคุณ ทุกประการ เข้ามาขอช่วยรักษาแผลใจ คุณก็จะเริ่มกลัวแล้วล่ะ ไม่อยากจะเริ่มความสัมพันธ์ครั้งใหม่ ก็จะปฏิเสธหรือแทงกั๊กไปก่อน เนื่องจากยังเข็ดขยาดกับความรักครั้งล่าสุด

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ทำไมรู้ไหมครับ?เพราะว่า คนใหม่กับโอกาสใหม่ มีความเป็นไปได้ที่จะไปด้วยดี และ ยั่งยืน รวมทั้ง เธอหรือเขาคนนั้นก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรเลย กับคนเก่าแม้แต่น้อย…… นับเป็นความผิดพลาดในการตัดสินใจที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

ปรากฏการณ์นี้  มีให้เห็นในการเทรด หรือ การลงทุนเช่นเดียวกัน โดยสาเหตุหลักคือ “Recency Bias”  ผมขอแปลเองว่า “อคติภาพจำ”  ซึ่งเรามักจะให้น้ำหนักความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ล่าสุด หมาด ๆ มากกว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยผลของเหตุการณ์ครั้งล่าสุดจะส่งผลกระทบ และทำให้การตัดสินใจครั้งถัดไป บิดเบือนไปมากเลย

ยกตัวอย่างเช่น ในการเทรด สมมุติว่า การคาดหวังอัตราการชนะต่อการแพ้ ในการใช้ Head and Shoulders เป็นสัญญาณเข้าออก อยู่ที่ 65% ในระยะยาวโดยการเทรดเป็น100 ครั้งขึ้นไป จะให้ผลการเทรดเป็นบวก แต่จากผลการใช้วิธีนี้ ล่าสุดขาดทุนติดต่อกัน3 ครั้งรวด พอต่อมาสแกนเจอหุ้นที่เข้าลักษณะตาม Set Upนี้ทุกประการ (เหมือนเจอเพศตรงข้ามที่ตรงสเปค) คุณเกิดความกลัว เก็บมือ ไม่เทรดและข้ามโอกาสนี้ไปเฉยเลย พอไม่ซื้อปุ๊บราคาหุ้นตัวนั้นวิ่งขึ้นอย่างกับจรวด ช่างน่าเสียดายจริง ๆ

ในทางตรงกันข้าม ความผิดพลาดนี้ก็ยังเกิดขึ้นได้ โดยอคติภาพจำจะสร้างความมั่นใจให้เราฮึกเหิมจนเกินไป เช่น เมื่อกำไรติด ๆ กันสัก 2-3 ไม้  Bias นี้อาจทำให้เทรดเดอร์เพิ่มสัดส่วนขนาดการเทรด​​ ( Position Sizing) จนเกินความเสี่ยงที่รับได้หากผิดทางขึ้นมา บางทีใส่เงินลงทุนทั้งหมดในการเทรดครั้งเดียวก็มี(All in)ถ้าเปรียบเทียบย้อนกลับเรื่องความสัมพันธ์ก็เหมือนคุณเคยมีแฟน แต่เลิกกันไปแบบดี ๆ ที่ผ่านมามีแต่ความทรงจำที่สวยงาม คราวถัดไปดันอยากมีเพิ่มคบซ้อนทีละหลาย ๆ คนเพราะว่าคราวที่แล้วมันเวิร์ค นั่นแหละครับ จุดเริ่มต้นของความหายนะ 5555

แล้วทางออกล่ะมีไหม แน่นอนต้องพยายามกำจัดเจ้า “Recency Bias”  นี้ออกไป รู้จักแยกแยะในการวิเคราะห์โอกาสในการลงทุนเป็นครั้ง ๆ ไป ไม่นำการขาดทุนหรือกำไรจากครั้งล่าสุด เอามาเชื่อมโยงกันกับรอบนี้ การฝึกสมาธิ สร้างสติ อยู่กับปัจจุบัน เฝ้าสังเกตอารมณ์ตนเอง ตระหนักรับรู้ถึงความกลัว ความกล้า ที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาด ลองไปฝึกฝนดู จะเป็นการเพิ่มทักษะการเทรดขึ้นไปเหนือผู้เล่นอื่น ๆ ในตลาดได้ครับ