รวมข้อ 6 ข้อผิดพลาดทำพอร์ตเสียหาย จากประสบการณ์ของผม
เรียนรู้ และตระหนักได้ จะทำให้ผลการเทรดดีขึ้นดังนี้ :-

1.เลื่อน จุดตัดขาดทุน ไปเรื่อย ๆ หรือ โดนจุดตัดขาดทุน แล้วเปิด Position ใหม่ เทรดในทิศทางเดิมทันที
เป็นปัญหาคลาสสิคอันดับหนึ่ง คือ เมื่อมีสัญญาณขายแล้วไม่ขาย เนื่องจากเรามักจะเข้าข้างตนเองและคิดว่าตนเองคิดถูกแล้ว จึงเลื่อน Stop เพื่อขอลุ้นอีกนิด หรือ การเทรดในครั้งก่อนหน้า เพิ่งโดนจุดตัดขาดทุน แล้วราคาดันไปต่อ ครั้งนี้เลยคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นอีก แต่กลายเป็นว่าไม่ใช่ล่ะ มันคือการผิดทางแน่ ๆ ไม่ใช่โชคร้าย ไม่ใช่ราคาสะบัดมาโดน กลายเป็นได้ทวีคูณความเสียหายไปซะแล้ว

2.ซื้อเพิ่มถัวเฉลี่ยขาลง เมื่อมี Position อยู่แล้ว ราคายังลงต่อเนื่อง
นี่คือการใช้หลักการ Martingale ที่ผิดวิธี เนื่องจากจะเปลี่ยนจาก Small Loss เป็น Big Loss หรือ หายนะได้ วิธีทำที่ถูกต้องคือ ซื้อเพิ่มได้ก็ต่อเมื่อการเทรดนั้นถูกทางแล้ว เช่นเปิด Long แล้วราคาขึ้นไปซักพักย่อลงมาจึงซื้อเพิ่ม ไม่ใช่ว่าอยู่ในโซนขาดทุนยิ่งลงมายิ่งซื้อเพิ่มเรื่อย ๆ

3.ได้กำไรฝั่ง Long แล้วมั่นใจมากว่าขายได้ที่ราคาสูงสุด จึงเปิด Short ต่อทันที
ทันทีที่เพิ่งเทคกำไรไป (สมมุติว่าเป็นสถานะ Long) ความฮีกเหิมเต็มร้อย คิดเอาเองว่าระดับที่ตนเองได้ขายไปนั้นเป็นราคาสูงที่สุด และ จะกลับตัวเป็นแนวโน้มขาลงทันที จึงทำการเปิด Short ต่อ ปรากฏว่าแนวโน้มที่ขึ้นมานั้นยังแรงและขึ้นต่อ ทำให้คืนกำไรที่เพิ่งได้มาอย่างน่าเสียดาย

4.All in ใช้มาร์จิ้นเปิดสถานะเต็มพอร์ต กะว่าถูกสัก 5 ครั้งรวด รวยแน่
แนวคิดแบบ All In หรือการเทหมดหน้าตัก เป็นแนวทางการเทรดที่ได้รับอิทธิพลมาจากการพนัน ถ้าท่านเคยดูภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพนันมาบ้าง จะมีฉากการ All In เป็นไฮไลท์เลยทีเดียว ซึ่งแหม มักจะประสบความสำเร็จเสียด้วย แต่อย่าลืมว่าชีวิตจริงไม่ใช่ในหนัง และ การเทรดนั้นไม่ใช่การพนัน ทางทีดีควรศึกษาเรื่องการบริหารขนาดการลงทุน (Position Sizing) เปิดและใช้เงินมาร์จินอย่างเหมาะสมจะ ไม่ทำให้ล้างพอร์ตครับ

5.มีสัญญาณซื้อแล้วไม่กล้าซื้อ
เกิดจากอคติที่เรียกว่า “Recency Bias” เมื่อผลการเทรดก่อนหน้าออกมาขาดทุนติด ๆ กัน เป็นไปได้สูงว่าครั้งถัดไป แม้มีสัญญาณซื้อครบถ้วนตามระบบที่ระยะยาวแล้วทำกำไรเกิดขึ้น เทรดเดอร์จะได้รับผลกระทบจากความผิดหวังครั้งก่อนหน้า อาจทำให้ไม่กล้าเข้าสถานะ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้ได้ว่า ผลการเทรดในแต่ละครั้งนั้นมีความเป็นอิสระจากกัน ครั้งที่ผ่านมาขาดทุน ไม่จำเป็นที่ครั้งต่อไปจะต้องขาดทุนด้วย

6.ไม่มีสัญญาซื้อดันซื้อ
บ่อยครั้งที่คนในยุคสมัยนี้ ไม่สามารถจะรออะไรได้ อยากได้อะไรต้องได้ทันที ทำให้เกิดความประมาทในการรีบเข้าสถานะได้โดยไม่ได้ตรวจสอบให้ถี่ถ้วน ว่าเข้าเงื่อนไขการซื้อ/ขายหรือยัง ทั้งนี้ Recency Bias มีผลอีกแล้ว ในกรณีที่ สถานะก่อนหน้าเพิ่งจะได้กำไรมา ครั้งถัดไปอาจจะมั่นใจเกินเหตุเข้าก่อนจะมีสัญญาณ​ ซึ่งเป็นความผิดพลาดและทำให้พอร์ตเสียหายได้ครับ
—-
ข้อผิดพลาดเหล่านี้ล้วนมีเบื้องหลังมาจากจิตวิทยา ความกลัว ความโลภ ความหวังและอคติ ถ้าท่านสามารถเข้าใจและจับหลักตรงนี้อยู่ จะทำให้มีความได้เปรียบเหนือผู้เล่นอื่น ๆ ในตลาดแน่ครับ

ป.ล. ผมได้สอนเรื่องนี้ในสัมมนา 2morrowfair 2020 สามารถรับชมได้ที่นี่
https://youtu.be/yC5KmnN4qPA​